วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ถ่านชาร์ตแบบ NiMH

ถ่านชาร์จได้ แบบ NiMH มีข้อดีมากมายครับ ที่แน่ๆ ช่วยให้เราประหยัดเงินเพราะสามารถนำมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ แต่มันก็มีข้อเสียที่ใหญ่หลวงอยู่เหมือนกัน นั่นคือ มันจะเก็บไฟไม่ได้นาน หากชาร์จให้เต็มวันนี้แล้วเก็บ อีกสองสัปดาห์นำมาใช้ใหม่ ก็แทบจะไม่เหลือไฟแล้ว เหมือนโอ่งใส่น้ำที่มีรูรั่ว วันนี้คุณเติมน้ำเต็ม อีกสองอาทิตย์ น้ำหายไปจนหมดโอ่ง อาการนี้ เรียกว่า self discharge คือ คายประจุได้เอง แม้จะไม่ได้ใช้งานอะไร ตามหลักแล้ว ถ่านแบบ NiMH จะมีอัตรา self discharge ประมาณ วันละ 1-2% ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่เก็บด้วย หากเก็บในที่เย็น ก็จะ self discharge ช้าลง แต่บ้านเราอากาศร้อน ถ่านก็ยิ่งคายประจุเร็วขึ้นผู้ใช้ถ่านชาร์จ ก็ต้องคอยท่องจำให้ขึ้นใจว่า ควรชาร์จก่อนใช้เสมอ ลืมไม่ได้เด็ดขาด ทำให้ถ่านชาร์จไม่เหมาะกับการใช้กับอุปกรณ์บางชนิดที่กินไฟน้อยแต่ใช้นานๆ เช่น รีโมทโทรทัศน์ นาฬิกาแขวนผนัง หรือเครื่องคิดเลข เพราะใช้ได้ไม่นานเท่าไหร่ไฟก็หมดเสียแล้ว ที่หมดไม่ใช่เพราะอุปกรณ์กินไฟหมด แต่หมดเพราะมันคายประจุเองแต่เดี๋ยวนี้มีถ่านชาร์จแบบใหม่ออกมา เรียกว่าชนิด Low Self Discharge การทำงานก็เหมือนกับถ่านชาร์จแบบ NiMH ธรรมดา สามารถชาร์จกับแท่นเดิมก็ได้ แต่ต่างกันตรงที่มันเก็บไฟได้นานกว่ามาก ตาม spec ของผู้ผลิตระบุไว้ว่า ชาร์จเต็ม ผ่านไปหกเดือน ไฟก็ยังอยู่ถึง 85% คายประจุไปเพียง 15% เท่านั้น อัตราคายประจุต่ำแบบนี้ ใกล้เคียงแบตเตอรี่ชนิด Lithium Ion เลยทีเดียวผู้ใช้กล้องน่าจะชอบถ่านแบบนี้นะครับ เพราะ เราไม่ได้ใช้กล้องทุกวัน ลองนึกดูว่า วันดีคืนดี มีงูเลื้อยเข้ามาในบ้าน เราอยากจะถ่ายรูปงู ถ้าเป็นถ่านแบบเก่า เราก็ต้องไปชาร์จถ่านก่อน กว่าจะเสร็จ งูก็คงเลื้อยหายไปถึงไหนแล้ว แต่ถ้าเราใช้ถ่าน Low Self Discharge กล้องของเราก็จะมีไฟพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ไม่พลาดช็อตเด็ดๆแน่นอน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้กับอุปกรณ์อื่นที่ถ่านชาร์จแบบเดิมไม่เหมาะ เช่น ไฟฉาย นาฬิกา เครื่องคิดเลข หรือ รีโมทคอนโทรลฯลฯ ได้ดีอีกด้วย

อ้างอิง : ผู้จัดการรายสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น: